นายกฯปลื้มท่องเที่ยวฟื้นหลังเปิดประเทศ ทำเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ชี้เหตุที่ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบูรณาการคนทำงาน ห่วงแค่กฎหมายกระทรวงสาธารณสุขจะทำไหวทุกอย่างหรือไม่
ขณะที่ “ชัชชาติ” เบรกการถอดหน้ากากใน กทม. หลัง ศบค.ขอให้เลื่อนไปก่อน กังวลคนรับวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 ไม่มาก ด้าน ม.อ. เผยผลวิจัยไทยน่าจะพบการติดเชื้อโควิด-19 จากแมวสู่คนเป็นครั้งแรกของโลก จากกรณีพ่อลูกชาว กทม.ติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแต่ไร้เตียง จนต้องขอมารักษาตัวที่ ม.อ. เมื่อ ส.ค.ปีกลาย พร้อมแมวคู่ใจ แล้วแมวจามใส่สัตวแพทย์จนติดเชื้อไปด้วย ยันตรวจลำดับเบสและรหัสพันธุกรรมแล้วตรงกัน
หลังไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดสถานบันเทิงมาได้สามสัปดาห์ รวมถึงลดเงื่อนไขการเข้าประเทศ เพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในประเทศคลี่คลายไปมาก โดยเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,784 คน เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,783 คน จากต่างประเทศ 1 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,166 คน อยู่ระหว่างรักษา 20,911 คน อาการหนัก 619 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 299 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 10 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 16 คน มีโรคเรื้อรัง 2 คน ขณะที่ตั้งแต่ปี 2563 มียอดผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 4,500,828 คน หายป่วยสะสม 4,449,432 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 30,485 คน ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2565 ฉีดได้เพิ่ม 40,906 โดส และตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ฉีดวัคซีนได้ 139,150,155 โดส แยกเป็นเข็มแรก 56,911,713 ราย คิดเป็นร้อยละ 81.8 ของประชากร เข็มสอง 53,025,536 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.2 ของประชากร และเข็มสามขึ้นไป 29,212,906 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.0 ของประชากร
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศว่า สิ่งที่จะฟื้นตัวคือเรื่องการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อหารายได้เข้าประเทศ มีผลกับผู้ประกอบการ ห่วงโซ่ต่างๆ เราพยายามให้คนเหล่านี้กลับมามีอาชีพ ให้ร้านอาหารกลับมาขายได้ ไม่อยากให้สถานการณ์เดิมกลับมาอีก บางอย่างเราอาจต้องสงวนรักษาไว้ ข้อห้ามต่างๆ ก็ต้องมี ไม่เช่นนั้นจะกลับไปที่เก่า แล้วยังมีผลกระทบเรื่องสงครามเข้ามาอีก ประชาชนเดือดร้อน คิดว่านายกฯไม่เจ็บปวดหรือ แต่เราพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สามารถทำได้ โดยที่ไม่เป็นปัญหาและไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต ขอให้ช่วยกัน ส่วนที่มีการเสนอให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ต้องพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็น ที่ผ่านมาทุกคนทราบดีเพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร เพราะต้องใช้คนทั้งหมดมาทำงาน ซึ่งมีผลมาถึงวันนี้เรื่องประสิทธิภาพ ฉะนั้นต้องไปดูว่าจำเป็นอีกหรือไม่ หากยกเลิกไปจะเหลือแต่กฎหมายกระทรวงสาธารณสุข จะทำไหวทุกอย่างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตนไม่ได้อยากบังคับใครทั้งสิ้น
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวถึงกรณี กทม.เล็งให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยได้ว่า สืบเนื่องจากที่ประชุม ศบค. มีความกังวล ขอให้เลื่อนการถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่ กทม.ออกไป เนื่องจากยังมีผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 บูสเตอร์เข็ม 3 ไม่มาก เป็นจุดเสี่ยงที่อาจให้เกิดผู้ติดเชื้อได้ และให้ กทม. ไปเร่งกระตุ้นเข็ม 3 ให้มากขึ้น ก็ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปรับวัคซีนบูสเตอร์ กันให้มาก
ต่อมา นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีพรรคการเมืองเสนอให้ยกเลิกกฎห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เวลา 14.00-17.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลายว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีประกาศอยู่หลายฉบับที่อนุญาตให้สถานบริการบางประเภทสามารถจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อยู่แล้ว ดังนั้น ข้อเสนอให้ยกเลิกช่วงเวลาห้ามจำหน่าย ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เพราะถ้าปลดตรงนี้ ร้านค้าทั่วไปคงขายได้ จะทำให้คนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกมาก ที่ผ่านมาขนาดกำหนดช่วงเวลาห้ามขาย ยังพบว่ามีผลกระทบ สร้างความสูญเสียมากทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ
เช่นเดียวกับ นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เป็นความพยายามฉวยโอกาสของกลุ่มสุราข้ามชาติและล็อบบี้ยิสต์ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ มองข้ามผลกระทบทางสังคม เพราะข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ชัดว่าทุกๆ 1 บาท ที่ได้จากภาษีสุรา ประเทศต้องจ่ายกลับเป็นค่าผลกระทบต่างๆมากถึง 2 บาท นอกจากนี้งานวิจัยของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปี 2563 พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาคือแหล่งท่องเที่ยว ความสะดวกในการเดินทาง ภาพลักษณ์จังหวัด ไม่เคยปรากฏว่าสุราคือจุดขาย ขอฝากไปถึงพรรคการเมือง อย่าหูเบาตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจที่ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง
ส่วนที่ห้องประชุม 201 ชั้น 2 รพ.สงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ช่วงบ่าย รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลฯ และเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 จากแมวไปสู่คน ได้แถลงกรณี The New York Times เผยแพร่ผลงานวิจัยของ ม.อ.ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าเป็นการติดจากแมวสู่คนเป็นครั้งแรกของโลกว่า เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค.2564 มีผู้ป่วยโควิด-19 เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงมีไม่พอ ประสานเดินทางมารักษายัง รพ.สงขลานครินทร์ และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมา 2 คน พ่อลูกพร้อมกับแมวที่เลี้ยงไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวไทย สีส้ม อายุ 10 ปี จากนั้นวันที่ 8 ส.ค.2564 นำตัวผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 2 คนเข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ. ส่วนแมวนั้น ส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกันในวันที่ 10 ส.ค.ด้วยการแยงจมูกและตรวจทวารหนัก โดยสัตวแพทย์และทีมงาน รวม 3 คน
ปรากฏว่า ระหว่างตรวจนั้น แมวเกิดจามออกมาและโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง อายุ 32 ปี ในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือและหน้ากากอนามัยเท่านั้น ไม่มีเฟซ ชิลด์ หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด หลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่าเป็นบวก มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้หลังจากตรวจแมวได้ 3 วัน ในวันที่ 13 ส.ค.เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก ในวันที่ 15 ส.ค.ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งพ่อลูก แมว และสัตวแพทย์ อาการไม่หนักมาก และออกจากโรงพยาบาลได้หลังรักษาตัวอยู่เกือบ 10 วัน ราวปลายเดือน ส.ค. จากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี
รศ.ดร.นพ.ศรัญญูเปิดเผยอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นได้มีการตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร พบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่างคือ ระยะการฟักตัวของโรคในคน เชื้อจะอยู่ได้ราว 1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน มีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลาและอีกส่วนคือการตรวจลำดับเบสและรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตวแพทย์ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับคลัสเตอร์ใหญ่ๆหลายจุดใน จ.สงขลา แต่พบว่าไม่ตรงกัน ได้ข้อสรุปว่าแมวนั้นติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด และเจ้าของเองไม่ทราบว่าแมวติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำการตรวจ เนื่องจากแมวจามออกมาใส่โดยตรง จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มๆ ส่วนทีมงานอีก 2 คนนั้นปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้
รศ.ดร.นพ.ศรัญญูกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศ แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงคือแมวไปสู่คนนั้น เคสนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัยและมีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว หากสงสัยว่าตนเองอาจเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคาดว่าได้รับเชื้อโควิด-19 ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงประมาณ 7-8 วัน เพื่อความปลอดภัย เพราะสัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนราว 5 วัน และหายไปเองได้ การที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นยากมาก หรือน้อยมากเช่นเดียวกัน งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง แต่ถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และอย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย ส่วนการจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงนั้น ทีมวิจัยไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากพบการระบาดในสัตว์เลี้ยงเป็นวงกว้าง ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาจจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป
วันเดียวกัน ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยแอฟริกาใต้ เผยผลการศึกษาที่ยืนยันว่าเชื้อโอมิครอนสายย่อยตัวใหม่ BA.4 และ BA.5 สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อ BA.1 และ BA.2 ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกขณะนี้ หมายความว่าคนที่ติดเชื้อตัวก่อน หรือแม้แต่คนที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมาแล้ว มีโอกาสล้มป่วยจากสายย่อยตัวใหม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้ เชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถูกตรวจพบเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่ครองสัดส่วนการติดเชื้อ แล้วกว่าร้อยละ 21 กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ประเมินว่าเชื้อ BA.4 และ BA.5 จะลามเข้าภูมิภาคอาเซียนในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มเป็น 2,103 คน ถือว่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ในจำนวนนี้ร้อยละ 84 ตรวจพบในยุโรป ขณะที่สาธารณสุขอังกฤษเตือนว่ายังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในอังกฤษที่ติดต่อกันในกลุ่มชายรักชาย ทำให้เริ่มมีการถกเถียงกัน ในหมู่นักวิชาการว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฉีดวัคซีนฝีดาษแก่กลุ่มคนรักร่วมเพศดังกล่าวทั้งหมด